วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การปกป้องเครื่องหมายการค้าและยี่ห้อสินค้าในตลาดระหว่างประเทศ

เครื่องหมายการค้า หมายถึงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าองผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นตัวอักษร สัญลักษณ์ หรือรูปภาพในขณะที่ยี่ห้อสินค้าจะแสดงให้เห็นในรูปของชื่อซึ่งสามารถเขียนและอ่านเข้าใจได้ กิจการที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดในประเทศต่าง ๆ จะทำให้เครื่องหมายการค้าและชื่อยี่ห้อเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือจากผูบริโภค ทำให้การนำเสนอขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อเหล่านั้นเป็นไปอย่างง่ายและสะดวก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบจากผู้ผลิตรายอื่นขึ้นได้ เนื่องจากการผลิตสินค้านั้นสามารถผลิตลอกเลียนกันได้อย่างไม่ยาก แต่การสร้างชื่อเสียงให้กับเครื่องหมายการค้าและชื่อเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เงินทุนสูงมาก การลอกเลียนหรือปลอมเครื่องหมายการค้าประกอบด้วย
-การปลอมแปลง หมายถึง ทำสินค้าเลียนแบบกิจการอื่น เช่น ผลิตกางเกนยีนส์ยี่ห้อลีวายส์ ออกจำหน่าย
-การปรับเครื่องหมายการค้า หมายถึง การลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นแต่อาจปรับเล็กน้อย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Pamasonic ซึ่งมีชื่อคล้าย Panasonic ที่มีชื่อเสียงกว่า
-การลักลอบผลิต เป็นการลักลอบผลิตสินค้าของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์และซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ หรือเทปและซีดีเพลง
การลักลอบหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าหรือชื่อสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจข้ามชาติเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดขายลดลงเป็นอย่างมากเช่น ยอดขายของ สุราเฮนเนสซี่คอนยัค ลดลงถึงประมาณ 30% ในตลาดทางตะวันออกไกล ซึ่งหมายถึงเอเชียตะวันออก ทางแก้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
1. การกดดันให้รัฐบาลดำเนินการกับประเทศที่มีพฤติกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีบทบาทในการกดดันการกระทำดังกล่าวสูงมาก เนื่องจากเป็นประเทศผู้คิดค้นและเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก
2. หลีกเลี่ยงที่จะไปจำหน่ายยังประเทศที่มีธุรกิจปลอมแปลงสินค้าปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นบริษัทจากประเทศอุตสาหกรรมบางบริษัทจะไม่อยากให้ตัวแทนการค้าจากประเทศที่นิยมปลอมแปลงสินค้าเข้าไปในบู้ทของตน

ขอขอบคุณที่มา สุดาพร กุณฑลบุตร การตลาดระหว่างประเทศ

ความหมายของการตลาดส่งออก (Exporting Marketing)

การตลาดส่งออก หมายถึง มีฐานการผลิตภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีการส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่ายในต่างประเทศในปริมาณที่มากพอสมควรเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับการจำหน่ายในต่างปรเทศ ในปริมาณที่มากพอสมควรเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับการจำหน่ายภายในประเทศ หรืออาจมีปริมาณที่มากกว่าที่จำหน่ายภายในประเทศ และประเทศที่กิจการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายนั้นอาจเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน หรือประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไปในทวีปอื่น การส่งสินค้าออกจากฐานการผลิตในประเทศไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นเพียงก้าวแรกของการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่ใช่กิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความชำนาญในการบริหารงานด้านการตลาดระหว่างประเทศในระดับสูง แต่การตลาดส่งออกจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้และขยายไปสู่การตลาดระหว่างประเทศหรือการตลาดในระดับสากลในที่สุด ในช่วงที่กิจการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศในปริมาณไม่มาก กิจการอาจไม่คำนึงถึงการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ แต่เมื่อปริมาณการส่งออกมีสัดส่วนที่มากขึ้นและอาจกลายเป็นกิจกรรมทางการตลาดที่สำคัญต่อผลการดำเนินงานของกิจการ ทำให้กิจการอาจต้องมีการปรับผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศแต่ละแห่ง เพื่อให้สามารถขยายตลาดออกไปได้เพิ่มขึ้น

ขอบคุณที่มา สุดาพร กุณฑลบุตร การตลาดระหว่างประเทศ

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนวความคิดทางการตลาดระหว่างประเทศ

แนวความคิดทางการตลาดหมายถึง จุดเน้นทางการตลาดที่ธุรกิจนำมาใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการตลาดให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ทางการตลาดของธุรกิจ จุดเน้นทางการตลาดในช่วงเวลาหนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามสภาพแวดล้อมทางการตลาด และคู่แข่งขัน ก่อน ค.ศ. 1960 แนวความคิดทางการตลาดมีจุดเน้นที่ผลิตภัณฑ์ พยายามปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้นมุ่งเพื่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึงจะส่งผลถึงวัตถุประสงค์ของธุรกิจ คือ กำไรจากยอดขาย แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เก่าแก่ที่สุด สภาพตลาดในสมัยก่อนปริมาณสินค้ามีไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ผลิตเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1960 แนวความคิดทางการตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวความคิดแบบใหม่ มีจุดเน้นใหม่ที่ผู้บริโภค ยึดหลักว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จเมื่อการตลาดสามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้จึงพยายามจัดส่วนผสมทางการตลาดให้สอดคล้องกับผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ มุ่งเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความพอใจและธุรกิจก็จะได้กำไรเป็นการตอบแทน
แนวคิดทางการตลาดระหว่างประเทศ ได้มีการกล่าวถึงในปี ค.ศ. 1980 กล่าวว่า จุดเน้นทางการตลาดที่คำนึงถึงผู้บริโภคอย่างเดียวยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในระดับโลก ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจและคู่แข่งขันด้วย วัตถุประสงค์ทางการตลาดของธุรกิจก้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน กำไรของธุรกิจจะต้องรวมถึงกำไรของผู้ถือหุ้น ความพอใจของพนักงานภายในองค์กร ลูกค้า สังคมและ รัฐบาล วิธีการที่จะทำให้ธุรกิจบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาด คือ การนำเอากลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้

ขอขอบคุณที่มา ศศิวิมล สุขบท การตลาดระหว่างประเทศ

ปรัชญาการบริหารการตลาดระหว่างประเทศ

ปรัชญาการบริหารเป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจ ซึ่งจะคำนึงถึงจุดเน้นของการบริหาร รูปแบบวิธีการบริหาร การกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการ การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่และการวัดผลการดำเนินการ จะบ่งบอกให้ทราบถึงรูปแบบขององค์กร และการวางตัวในองค์กรของสังคมโลก
ปรัชญาการบริหารการตลาดระหว่างประเทศ แบ่งได้ 3 ระดับดังนี้
1. การบริหารงานแบบยึดประเทศแม่เป็นศูนย์กลาง
เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ การตลาดระหว่างประเทศ การกำหนดนโยบาย และผู้บริหารระดับสูง จะมาจากประเทศแม่ทั้งสิ้น ผู้บริหารระดับกลาง และพนักงานปฏิบัติจะเป็นบุคคลากรในท้องถิ่นที่ประเทศนั้นเข้าไปลงทุน
2. การบริหารงานแบบยึดตลาดแต่ละตลาดเป็นศูนย์กลาง
เป็นการผลิตสินค้าหรือปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับประเทศที่เข้าไปทำการลงทุน หรือขยายสาขา ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดของประเทศนั้นโดยเฉพาะ ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานสาขาก็จะเป็นบุคคลากรของประเทศนั้น ซึ่งรู้จักวัฒนธรรมรูปแบบการดำเนินชีวิต การเมือง การปกครอง และสภาพเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้นดี
3. การบริหารงานเชิงบูรณาการ
มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และคุ้มค่าที่สุด มีต้นทุนการผลิตและการบริหารต่ำ อยู่บนพื้นฐานของโอกาสทางการตลาดท่ามกลางสิ่งแวดล้อมโลก หลักการบริหารการตลาดจะอยู่ที่การสร้างคุณค่าแก่ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยความพยายามใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขอขอบคุณที่มาจาก ศศิวิมล สุขบท การตลาดระหว่างประเทศ

ลำดับขั้นการพัฒนาการตลาดโลก

ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจระดับโลก ธุรกิจส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นจากการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นก่อน เมื่อประสบความสำเร็จ ในท้องถิ่นก็จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ตลาดหลายประเทศและตลาดโลกในที่สุด
ลำดับขั้นการพัฒนาธุรกิจ จะเริ่มต้นตั้งแต่ดำเนินธุรกิจ ในท้องถิ่น ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ดำเนินธุรกิจหลายประเทศและดำเนินธุรกิจโลก ดังรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 ธุรกิจในท้องถิ่น
ธุรกิจจะมุ่งสนใจตลาดในท้องถิ่นของตนเอง วางแผนและจัดกลยุทธ์ภายใต้เงื่อนไขในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ลักษณะตลาดผู้ผลิตและผู้แข่งขัน มีแนวคิดว่าถ้าไม่มีธุรกิจในท้องถิ่นตนเองก็ยังไม่มีจุดเริ่มต้น
ขั้นที่ 2 จากธุรกิจท้องถิ่นมุ่งสู่ตลาดระหว่างประเทศ
ธุรกิจเริ่มมองหาตลาดต่างประเทศโดยยึดธุรกิจเดิมในท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น ส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยสินค้านั้นจะเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และยังผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อส่งขายต่างประเทศ
ขั้นที่ 3 ธุรกิจปรับส่วนผสมทางการตลาดให้สอดคล้องกับแต่ละภาค
เมื่อธุรกิจเริ่มเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศจะพบว่าแต่ละตลาดจะมีลักษณะเฉพาะ มีความแตกต่างกัน ธุรกิจจำต้องปรับส่วนผสมทางการตลาดให้สอดคล้องกับตลาดนั้น ๆ และคู่แข่ง และนี่คือการเริ่มต้นการตลาดหลายประเทศ
ขั้นที่ 4 ธุรกิจโลก
จากสินค้าเดิมที่ธุรกิจมีอยู่ และได้นำเข้าสู่ตลาดหลาย ๆ ประเทศ ธุรกิจจะพยายามใช้สิ่งที่ตนเองดำเนินการอยู่ในตลาดหนึ่ง รวมทั้งปรับวิธีการเข้าสู่ลูกค้าให้เข้ากับตลาดที่มีลักษณะแตกต่างกันนั้น ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจมีสมมติฐานว่า ตลาดในโลกนี้จะมีทั้งความคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน เมื่อธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลาย ๆ ประเทศ การจัดการตลาดจึงป็นลักษณะเชิงซ้อน เช่น ในการเข้าสู่ตลาด ก สินค้าอาจเป็นตัวเดิมที่ขายอยู่ในตลาด ข แต่ใช้ช่องทางการจัดจำหน่าย และสื่อโฆษณาเช่นเดียวกับที่ใช้ในตลาด ค นั่นคือการใช้กลยุทธ์แบบผสมผสานนั่นเอง อาจเป็นกลยุทธ์เดิมประยุกต์ใช้หรือสร้างกลยุทธ์ใหม่ขึ้น

ขอขอบคุณที่มาจาก ศศิวิมล สุขบท หนังสือการตลาดระหว่างประเทศ

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)

หลักการ
1.AFTA มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี
2. กลไกการลดภาษีที่สำคัญของ AFTA คือระบบ CEPT (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน กล่าวคือ การที่จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นจะต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันด้วย ทั้งนี้ CEPT ได้กำหนดให้สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจะต้องมีสัดส่วนมูลค่าที่เกิดขึ้นในอาเซียน (ASEAN Local Content) อย่างน้อย 40% และสามารถคำนวณวัตถุดิบในอาเซียนแบบสะสม (Cumulative Rules of Origin) โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของวัตถุดิบเท่ากับ 20%

มาตรการด้านภาษี
3.อาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดการลดภาษีใน AFTA ดังนี้
3.1 ประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศลดภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) ให้เหลือ 0-5% ภายใน
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2003 และจะลดให้เป็น 0 % ภายในปี ค.ศ. 2010
3.2 ประเทศสมาชิกใหม่จะพยายามลดภาษีลงเหลือ 0-5% ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปี 2006 สำหรับเวียดนาม; ปี 2008 สำหรับลาวและพม่า; และปี 2010 สำหรับกัมพูชา
3.3 ประเทศสมาชิกจะลดภาษีลงเหลือ 0% ทุกรายการใน IL ภายในปี 2010 สำหรับสมาชิกเดิม และภายในปี 2015 สำหรับสมาชิกใหม่
ทั้งนี้ ตั้งแต่ ม.ค. 2003 กำหนดให้ 60% ของรายการสินค้าทั้งหมดของสมาชิกเดิม 6 ประเทศมีอัตราภาษีเท่ากับ 0%
3.4 ภายใต้กรอบความตกลงสำหรับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ (ลงนามระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547) กำหนดว่าจะเร่งลดภาษีสินค้าใน 9 สาขาหลัก (เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ) ให้เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี กล่าวคือจากปี 2010 เป็น 2007 สำหรับสมาชิกเดิม และจากปี 2015 เป็น 2012 สำหรับสมาชิกใหม่
3.5 นอกจากสินค้าในบัญชี IL แล้ว ยังมีการกำหนดเวลาการลดภาษีสำหรับบัญชียกเว้นภาษีชั่วคราว (Temporary Exclusion List: TEL) บัญชีอ่อนไหว (Sensitive List: SL) และบัญชีอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List: HSL) ซึ่งมีกำหนดเวลาการลดภาษีที่แตกต่างกัน ส่วนบัญชียกเว้นทั่วไป (General Exclusion List: GE) เป็นสินค้าที่แต่ละประเทศไม่สามารถนำมาลดภาษีได้ (ขณะนี้มีเพียงไทยและสิงคโปร์ที่ไม่มี GE)

การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี
4. นอกเหนือจากข้อกำหนดในการลดภาษีแล้ว AFTA ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณ (Quantitative Restriction) ทันทีเมื่อสินค้าได้นำเข้าแผนการลดภาษีแล้ว และได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอาเซียนอื่นแล้ว และยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB) ภายใน 5 ปี หลังจากได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอาเซียนอื่น ขณะนี้ อาเซียนกำลังดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีในอาเซียน โดยให้มีกระบวนการแจ้งข้ามประเทศ (cross-notification) ซึ่งประเทศสมาชิกและภาคเอกชนสามารถแจ้งมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ประเทศอื่นๆ ใช้อยู่ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อรวบรวม ตรวจสอบ แล้วให้ประเทศสมาชิกที่ถูกแจ้งนั้นชี้แจงและดำเนินการยกเลิกต่อไปหากพบว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของความตกลง CEPT

ความคืบหน้าในการดำเนินการของ AFTA
5. การดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนได้มีความก้าวหน้าไปมาก โดยสถานะ ณ วันที่ 1 มกราคม 2548 คือ (1) รายการสินค้าในบัญชี IL ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้นำมาลดภาษีในปี 2547 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 86,359 รายการ (2) 98.98% ของสินค้าของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และ 81.35% ของประเทศสมาชิกใหม่ มีอัตราภาษีระหว่าง 0-5 % (3) อัตราภาษีเฉลี่ยสำหรับสินค้าใน CEPTสำหรับสมาชิกเดิม 6 ประเทศ เท่ากับ 2.0% (จาก 12.76% ในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลดภาษี) และ (4) 64.12% ของสินค้าใน IL ของสมาชิกเดิม 6 ประเทศ มีอัตราภาษี 0% ในปี 2547 และ 92.99% ของสินค้าในบัญชี IL ของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีอัตราภาษีระหว่าง 0-5%

การจัดตั้งกลไกการระงับข้อพิพาท
6. ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ได้ตกลงให้มีการจัดตั้งระบบเพื่อการปฏิบัติตามความตกลงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กรอบ AFTA เป็นไปอย่างเหมาะสม และเพื่อช่วยเร่งรัดการแก้ไขข้อพิพาท ประกอบด้วยกลไก 3 ระดับ
6.1กลไกให้คำแนะนำ (Advisory Mechanism) ได้แก่
(1) กลไกระงับข้อพิพาทและหน่วยงานกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการค้าการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Consultation to Solve Trade and Investment Issues: ACT) เพื่อทำหน้าที่ประสานและให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชนและภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้าภายในอาเซียน โดยกลไกของ ACT ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เน้นการให้บริการทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กำหนดให้การแก้ไขปัญหาภายใต้กลไก
ACT ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยในส่วนของประเทศไทย ACT ได้จัดตั้งขึ้นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็น National AFTA Unit และ
(2) การจัดตั้ง ASEAN Legal Unit ในสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้ความช่วยเหลือในการตีความและให้คำแนะนำประเด็นข้อพิพาททางการค้า (ตามคำร้องขอของประเทศสมาชิก)
6.2 กลไกให้คำปรึกษา ได้แก่ ASEAN Compliance Body (ACB) ในกรณีที่ประเทศใดไม่ปฏิบัติตามความตกลง ประเทศที่เป็นกลาง(ไม่ได้มีส่วนในข้อพิพาท) จะได้รับการร้องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผลการตรวจสอบจะไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ACB มีกำหนดเวลาพิจารณา 90 วัน
6.3 กลไกบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ Enhanced ASEAN Dispute Settlement Mechanism ได้มีการลงนามในพิธีสาร ASEAN Protocol on Enhanced ASEAN DSM โดย AEM ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ซึ่งจะใช้แทน Protocol on DSM (1996) ของอาเซียน เป็นการปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียนตามแบบ WTO อาทิ การจัดตั้งคณะพิจารณา (Panels) และองค์กรอุทธรณ์ (AppellateBody) นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้ง ASEAN DSM Fund เป็นเงิน 330,000 เหรียญสหรัฐ (แต่ละประเทศร่วมออกเงินเท่ากัน)
การค้าระหว่างอาเซียน-ไทย
7. นับแต่มีการจัดตั้ง AFTA การค้าระหว่างไทยและอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเพิ่มขึ้นจาก 10,031.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2535 อันเป็นปีก่อนเริ่มก่อตั้ง AFTA เป็น 28,946 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนในภาพรวม
7. 1 มูลค่าการส่งออก 16,537.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.9 สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนการนำเข้านั้น มูลค่าการนำเข้าประมาณ 12,490.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและ
ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม และหลอดภาพโทรทัศน์ เป็นต้น
8.สินค้าที่ไทยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้ง AFTA ส่วนใหญ่คือ สินค้าที่ไม่มีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสินค้าที่ใช้เวลาในการปรับตัวนาน เช่น เหล็ก สิ่งทอ และสินค้าประเภทที่มีการลดภาษีใน AFTA แล้ว แต่เป็นสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากนอกอาเซียนซึ่งไทยมีอัตราภาษีศุลกากรอยู่ในระดับสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น


ขอขอบคุณที่มา http://www.mfa.go.th

ความหมายของบริษัทข้ามชาติ

บริษัทข้ามชาติหรือกิจการข้ามชาติ หมายถึง บริษัทที่มีก่ารผลิตและการตลาดในหลายประเทศ โดยปกติแล้วบริษัทเหล่านั้นจะมีการผลิตในบางประเทศ และนำสินค้าที่ผลิตออกจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ผ่านสาขาหรือบริษัทในเครือหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ดีพื้นฐานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมักจะเริ่มจากการส่งสินค้าที่เหลือจากการจำหน่ายในประเทศไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และพัฒนาไปสู่การปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการกระจายอำนาจจากสำนักงานใหญ่ไปยังบริษัทในเครือหรือสาขา และเมื่อการดำเนินงานทางการตลาดในต่างประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้น กิจการก็มักจะพบว่าตลาดต่างประเทศกลายเป็นตลาดที่สำคัญกว่าตลาดภายในประเทศ และเมื่อมีการขยายสาขาไปทั่วโลก ทำให้เกิดแนวคิดว่าทำอย่างไรจะทำให้การบริหารงานของสาขาทั่วโลกสามารถร่วมมือกันและก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่ง จึงทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างความเป็นสากลให้กับกิจการ