วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

WTO คืออะไร

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) มีพัฒนาการมาจากแกตต์ (General Agreement on Tariff and Trade : GATT) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยมีองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจ คือ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมทุก ๆ 2 ปี การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9-13 ธันวาคม 2539 ครั้งที่2 มีขึ้น ณ นครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2541 การประชุมครั้งที่ 3 มีขึ้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 และการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้น ณ เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2544 ปัจจุบัน WTO มีสมาชิกทั้งสิ้น 140 ประเทศ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)วัตถุประสงค์ของ WTO - เป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า และมีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การค้ามีความเสรียิ่งขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม - สร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ - เป็นกลไกตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าของประเทศสมาชิก
หลักการสำคัญของ WTO
- กำหนดให้ใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศโดยไม่เลือกประติบัติ (Non-Discrimination) คือ ให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน (Most-favoured Nation Treatment : MFN) กล่าวคือ แต่ละประเทศจะต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากร หรือค่าธรรมเนียม หรือใช้มาตรการใดๆ กับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าเทียมกันทุกประเทศ และปฏิบัติต่อสินค้านำเข้า เท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ (National Treatment) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีภายใน หรือการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ
- การกำหนดและบังคับใช้มาตรการทางการค้าจะต้องมีความโปร่งใส (transparency)โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์เผยแพร่กฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ
- คุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากรเท่านั้น (tariff-only protection) โดยหลักการแล้ว WTO ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าทุก ชนิด ยกเว้นบางกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ WTO
- มีสิทธิ์ใช้ข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น (necessary exceptions and emergency action)ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการคุ้มกันชั่วคราวในกรณีที่มีการนำเข้ามากผิดปกติ และสามารถจำกัดการนำเข้า เพื่อจุดประสงค์ในการแก้ไขการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นทั่วไป เช่น เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชน สัตว์ และพืช เพื่อศีลธรรมอันดี และเพื่อความมั่นคงภายใน เป็นต้น
- ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (fair competition) ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้านำเข้าได้ หากมีการไต่สวนตามกฎเกณฑ์ของ WTO แล้วพบว่า ประเทศผู้ส่งออกมีการทุ่มตลาด หรือให้การอุดหนุนจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกอุดหนุนการผลิต และการส่งออกจนบิดเบือนกลไกตลาด
- ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกันได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า (no trade blocs) ประเทศสมาชิกสามารถตกลงรวมกลุ่ม เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะขยายการค้าระหว่างกัน แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มต้องไม่มีจุดประสงค์ เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม
- มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) เมื่อมีกรณีข้อขัดแย้งทางการค้า ให้หารือเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทของ WTO โดยการยื่นเรื่องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (dispute settlement body: DSB) ของ WTO เพื่อจัดตั้งคณะลูกขุนขึ้นพิจารณากรณีดังกล่าว และรายงานผลให้ประเทศสมาชิกอื่นร่วมกันพิจารณา บังคับให้เป็นไปตามผลของคณะลูกขุน หากไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ประเทศผู้เสียหายสามารถทำการตอบโต้ทางการค้าได้
- ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment : S&D) ผ่อนผันให้ประเทศกำลังพัฒนาจำกัดการนำเข้าได้ หากมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพดุลการชำระเงิน และให้โอกาสประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้ แม้จะขัดกับหลัก MFN ก็ตาม ประเทศสมาชิก WTO ปัจจุบัน WTO มีประเทศสมาชิกทั้งสิน 140 ประเทศ มีประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกอีก 28 ประเทศ ที่สำคัญอาทิ จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เนปาล เป็นต้น
ขอขอบคุณที่มาจาก http://learners.in.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น